วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาการจัดกิจกรรมเรียนการสอน เรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล



ปัญหาการจัดการจัดกิจกรรมเรียนการสอน เรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล

พุทธรัตน์ คำเพ็ง

สาขาคณิศาสตรมหาบัณฑิต

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

บทนำ

         มนุษย์เรามีความคล้ายคลึงกันอยู่หลายประการ เช่น ต่างก็มีความต้องการ มีความรู้สึก มีอารมณ์แต่ในขณะเดียวกันบุคคลแต่ละคนก็มีความแตกต่างจากคนอื่น ๆ ได้หลายประการ เช่น มีรูปร่างต่างกัน มีสีของตา สีของผมต่างกัน บางคนมีความฉลาดบางคนโง่เขลาแม้แต่คู่แฝดยังมี ความแตกต่างกัน เช่น แตกต่างกันในความคิดและอารมณ์ ฉะนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีผู้ใดจะมีความเหมือนกันไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง มนุษย์ทุกคนในโลกนี้จึงมีความแตกต่างกันทั้งทางร่างกายและสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันและความแตกต่างของมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่บุคคลควรเข้าใจและศึกษาเพื่อให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์

วิวัฒนาการของการศึกษาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล มีดังนี้

        ความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นเรื่องที่ได้มีการรับรู้มาเป็นเวลานับตั้งแต่ เพลโต้ ( Plato ) ( 427 – 347 ก่อนคริสต์ศักราช ) นักปรัชญาชาวกรีก ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ The Republic ว่าไม่มีบุคคลสองคนที่เกิดมาเหมือนกันไปเสียทุกอย่าง ต่อมาในศตวรรษที่สิบเก้า ผู้ที่ได้ศึกษาเรื่องราวของความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์คือ เซอร์ ฟรานซิส กาลตัน ( Sir Francis Galton ) ซึ่งได้ศึกษาเรื่องราวของกรรมพันธุ์ ได้สรุปว่า สติปัญญาของแต่ละคนขึ้นอยู่กับพันธุกรรม และกาลตันยังกล่าวไว้ว่า ลายมือของคนเรายังมีความแตกต่างกันอีกด้วย

        ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual differences theory)

ความหมาย

        อารี พันธ์มณี (2539) แบ่งประเภทของความแตกต่างระหว่างบุคคลออกเป็น 6 ประเภท คือ
1. ความแตกต่างทางด้านร่างกาย
2. ความแตกต่างทางด้านอารมณ์
3. ความแตกต่างทางด้านสังคม
4. ความแตกต่างทางด้านเพศ
5. ความแตกต่างทางด้านอายุ
6. ความแตกต่างทางด้านสติปัญญา

       มาลินี จูฑะรพ (2539) กล่าวว่า โดยทั่วไปบุคคลจะมีความแตกต่างกันในด้านต่อไปนี้ คือ ด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านความถนัด ด้านความสนใจ ด้านเจตคติ ด้านแรงจูงใจทางสังคม ด้านค่านิยม ด้านรสนิยม ด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ด้านการศึกษาอบรม ด้านการกระทำ ละด้านอายุ

       สุรางค์ โค้วตระกูล (2533) กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องต่อไปนี้
1. ความแตกต่างระหว่างบุคคลทางเชาวน์ปัญญา
2. ความแตกต่างระหว่างบุคคลทางความคิดสร้างสรรค์
3. ความแตกต่างระหว่างบุคคลทางลีลาการรู้คิด (Cognitive styles)
4. ความแตกต่างระหว่างบุคคลเกี่ยวกับลีลาการเรียนรู้ (Learning styles)
5. ความแตกต่างระหว่างเพศ

        ส่วนจำเนียร ช่วงโชติ (2532) กล่าวไว้ในเรื่องการวัดความแตกต่างระหว่างบุคคล ว่า บุคคลมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันซึ่งวัดได้ มีดังนี้
1. คุณลักษณะทางร่างกายและทางสรีระวิทยาของบุคคล เช่น ขนาด ส่วนสูง น้ำหนัก สัดส่วน และการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย
2. คุณลักษณะทางจิตวิทยาของบุคคล เช่น ความแตกต่างในเรื่อง การสัมผัส การรับรู้สิ่งต่างๆ ความแตกต่างในเรื่องสติปัญญา ความสนใจ เจตคติ ค่านิยม ความสามารถพิเศษ และด้านบุคลิกภาพ

         นอกจากนี้ ยังมีการจำแนกประเภทความแตกต่างระหว่างบุคคล ในลักษณะอื่นๆ อีกมากมาย ในที่นี้จะกล่าวถึงลักษณะความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยแบ่งเป็นความแตกต่างด้านต่างๆ 4 ด้าน คือ
1. ความแตกต่างทางด้านร่างกาย
2. ความแตกต่างทางด้านอารมณ์
3. ความแตกต่างทางด้านสังคม
4. ความแตกต่างทางด้านสติปัญญา
ซึ่งจะกล่าวถึงความแตกต่างแต่ละประเภทดังนี้

ความแตกต่างทางด้านร่างกาย สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
1.ลักษณะทางร่างกายซึ่งสามารถมองเห็นได้เด่นชัด เช่น รูปร่าง หน้าตา อายุ เพศ ลักษณะของสีผิว เส้นผม เล็บฯลฯ และลักษณะอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
2.ลักษณะทางร่างกายซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้เด่นชัด เช่น การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต กลุ่มเลือด ปฏิกิริยาที่มีต่อยาและสารเคมีอื่นๆ ฯลฯ ซึ่งเราสามารถใช้เครื่องมือในการวัดลักษณะเหล่านี้ได้

ความแตกต่างทางด้านอารมณ์

อารมณ์ หมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลที่ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า ทั้งสิ่งเร้าภายในและภายนอกและความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล โดยทั่วไปอารมณ์จะมีลักษณะอารมณ์ด้านบวก คือ อารมณ์ดี พอใจ สบายใจ สุขใจฯลฯ และอารมณ์ด้านลบ คือ อารมณ์ไม่ดี ไม่พอใจ หงุดหงิด ทุกข์ใจ ฯลฯ คนแต่ละคนมีอารมณ์แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ได้แตกต่างกันด้วย ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจจะช่วยส่งเสริมให้บุคคลมีชีวิตที่มีความสุขหรืออาจเป็นตัวบั่นทอนความสุขในชีวิตก็ได้
นักจิตวิทยาเชื่อว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่สามารถปลูกฝังให้เกิดขึ้นได้ เพราะสาเหตุที่ทำให้คนเราเกิดอารมณ์ต่างๆ นั้น เป็นผลจากการที่บุคคลเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด เช่น วิธีการอบรมเลี้ยงลูก ในวัยเด็ก ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อลักษณะอารมณ์ของบุคคล นอกจากนี้ยังมีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีอิทธิพลทำให้บุคคลมีอารมณ์แตกต่างกัน ได้แก่การศึกษาจากครอบครัว โรงเรียน สภาพของสังคมที่บุคคลอาศัยอยู่ ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสื่อมวลชนต่างๆ

ความแตกต่างทางด้านสังคม
บุคคลแต่ละบุคคลมีพฤติกรรมด้านสังคมแตกต่างกัน นับตั้งแต่ลักษณะการพูดจาสื่อสาร การแต่งกาย การคบเพื่อน และบุคลิกภาพทางสังคมอื่นๆ ทั้งนี้เพราะแต่ละบุคคลมาจากสังคมที่แตกต่างกัน เช่น มาจากครอบครัวที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายถึงได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน บิดามารดามีอาชีพการศึกษา ฐานทางเศรษฐกิจและลักษณะอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลให้บุคคลมีลักษณะสังคมที่ไม่เหมือนกัน นอกจากครอบครัวแล้วยังมีหน่วยสังคมอื่นๆ ที่มีอิทธิพลทำให้บุคคลมีความแตกต่างกันทางด้านสังคม เช่น กลุ่มเพื่อน ผู้ร่วมงาน โรงเรียน ชุมชนที่บุคคลอาศัยอยู่ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ และความแตกต่างทางด้านสังคมดังกล่าวจะส่งผลให้บุคคลมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะของความสนใจ ความต้องการ ค่านิยมและแรงจูงใจในการทำพฤติกรรมต่างๆ แตกต่างกันไปด้วย

ความแตกต่างทางด้านสติปัญญา
ความแตกต่างทางด้านสติปัญญา ได้แก่ ความสามารถของบุคคลในการจำ การคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การเรียนรู้ และการกระทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการปรับตัว ถ้าบุคคลใดทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี แสดงว่าบุคคลนั้นมีสติปัญญาสูง นักจิตวิทยาและนักศึกษาค้นพบว่า คนเรามีระดับสติปัญญาแตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับสูง-ต่ำ ซึ่งมีผลทำให้เกิดความแตกต่างในด้านประสิทธิภาพของบุคคล ทั้งในแง่ของการทำงาน และการทำพฤติกรรมอื่นๆ ในชีวิต
โดยปกติความสามารถทางสติปัญญาของบุคคลจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่
1.พันธุกรรม หมายถึง ลักษณะต่างๆที่บุคคลได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งจากหารศึกษาส่วนใหญ่พบว่า บุคคลมีแนวโน้มที่จะมีระดับสติปัญญาใกล้เคียงกับบิดามารดา และบรรพบุรุษ
2.สภาพแวดล้อม หมายถึง สภาพต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมทางจิตวิทยา ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการและความสามารถทางสติปัญญาของบุคคลทั้งสิ้น เช่น อาหาร การดูแลสุขภาพ วิธีอบรมเลี้ยงดู การศึกษา และการส่งพัฒนาด้านอื่นๆ

สาเหตุของความแตกต่างระหว่างบุคคล
ความแตกต่างระหว่างบุคคลถูกกำหนดโดยปัจจัยใหญ่ๆ 2ประการ คือ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม
พันธุกรรม (Heredity) หมายถึง การถ่ายทอดลักษณะต่างๆ ของบรรพบุรุษไปสู่รุ่นหลาน โดยผ่านกระบวนการทางชีววิทยา การถ่ายทอดลักษณะต่างๆ นั้น กำหนดโดยสารพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีนส์ (genes) ซึ่งอยู่ในโครโมโซม (Chromosome) โครโมโซมและยีนส์


อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อบุคคล
สิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อบุคคลแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. สิ่งแวดล้อมก่อนคลอด หรือสิ่งแวดล้อมในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นระยะวิกฤต ทั้งนี้เพราเป็นระยะที่เนื้อเยื่อและส่วนสำคัญต่างๆของร่างกายกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว สิ่งแวดล้อมระยะนี้จึงมีผลต่อการเสริมสร้างและทำลายโครงสร้างพื้นฐานและระบบประสาทของร่างกายได้อย่างรุนแรง ปัจจัยที่มีผลต่อทารกในขณะที่อยู่ในครรภ์มีหลายอย่าง เช่น อายุของมารดา ความเกี่ยวพันธ์ทางสายเลือดของบิดามารดา คุณภาพของอาหาร ยาที่รับประทาน รังสี บุหรี่ สุรา และความเจ็บป่วยระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น
2. สิ่งแวดล้อมขณะคลอด เช่น ภาวะที่สมองของทารกขาดออกซิเจนขณะคลอด สมองได้รับอันตรายจากการคลอด หรือการคลอกก่อนกำหนด ส่งผลให้บุคคลมีลักษณะเปลี่ยนแปลงได้
3. สิ่งแวดล้อมหลังคลอด หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในช่วงต่อๆมาของชีวิตหลังจากที่คลอดออกมาจากครรภ์มารดาแล้ว สิ่งแวดล้อมหลังคลอดที่นักจิตวิทยาเห็นพ้องกันว่ามีอิทธิพลต่อการกำหนดพัฒนาการและพฤติกรรมของบุคคลในระดับสูง ได้แก่
3.1 ครอบครัว คนแต่ละคนใช้ชีวิตและเติบโตมาในครอบครัว ครอบครัวจึงจัดเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นแหล่งที่วางรากฐานของการพัฒนาการทุกด้านในชีวิต เป็นแหล่งที่บุคคลได้เรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการเรียนรู้ที่ส่งผลอย่างลึกซึ้ง ต่อการพัฒนาในระยะหลัง (Perry and Perry, 1979) ตัวแปรต่างๆในครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อบุคคล ได้แก่ วิธีการอบรมเลี้ยงดู ทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ลำดับการเกิดของเด็ก การศึกษาและอาชีพของพ่อแม่และคนในครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว
3.2 โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นสถานบันทางสังคมซึ่งทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กทั้งในด้านวิชาการ ด้านการปรับตัว และการพัฒนาบุคลิกภาพ ปัจจัยสำคัญในโรงเรียนที่มีอิทธิพลต่อบุคคล ได้แก่ บุคลิกภาพของครู หลักสูตรและวิธีการสอน ลักษณะและบรรยากาศในโรงเรียน ฯลฯ
3.3 กลุ่มเพื่อน ลักษณะและพฤติกรรมที่สำคัญซึ่งบุคคลได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มเพื่อน ได้แก่ ได้แก่ การคล้อยตามและการยอมรับกติกาของกลุ่ม การมีค่านิยมทางสังคม การสร้างแรงจูงใจฝ่ายสัมฤทธิ์ ฯลฯ
3.4 สื่อมวลชน สื่อมวลชนประเภทต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์อินเตอร์เน็ต วิดี
ทัศน์และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ยับเป็นสิ่งแวดล้อมที่อิทธิพลต่อบุคคลอย่างมาก เพราะสื่อมวลชนให้ทั้งความรู้ ข่าวสารและความบันเทิง ประกอบกับปัจจุบันเป็นยุคของข่าวสารข้อมูลสื่อมวลชน จึงมีอิทธิพลต่อบุคคลทั้งในทางที่ปรารถนาและไม่พึ่งปรารถนา
3.5 ศาสนา ศาสนามีอิทธิพลต่อบุคคลในส่วนของการสร้างค่านิยม ความสัมพันธ์กันเป็นชุมชน ความมีเอกลักษณ์ และการพัฒนาตนเองของบุคคล


ความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

         พันธุกรรมและสิ่วแวดล้อมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้บุคคลที่มีความแตกต่างกัน ปัจจัยทั้งสองนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จนยากที่จะแยกได้ว่าอะไรมีบทบาทมากกว่ากัน และเป็นสัดส่วนเท่าใด เพราะพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมร่วมกันมีบทบาทต่อบุคคลทั้งในทางส่งเสริมและยับยั้งพัฒนาการและพฤติกรรมต่างๆ ดังที่วิภาพร มาพบสุข (2543) กล่าวว่าพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดคุณลักษณะพื้นฐานทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ ส่วนสิ่งแวดล้อมจะเป็นเครื่องช่วยบ่งชี้ว่า คุณลักษณะพื้นฐานเหล่านั้นจะมีการพัฒนาเป็นอย่างไร ดังนั้นปัจจัยที่สองนี้จึงเป็นเหตุให้มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน และอารี พันธ์มณี (2534) กล่าวว่า พันธุกรรมเป็นตัวกำหนดแนวลักษณะจากบรรพบุรุษ และสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดขอบเขตพัฒนาการของบุคคล
เยนนิงส์ นักชีววิทยา ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งกล่าวว่า ความเฉลียวฉลาด อุปนิสัย อารมณ์ ตลอดจนรูปร่างลักษณะต่างๆ ของบุคคลขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เราไม่สามารถแยกพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมออกจากกันได้ ส่วนสุภา มาลากุล ณ อยุธยาและยงยุทธ วงศ์ภิรมณ์ศานต์ (2535) กล่าวว่า พันธุกรรมมีบทบาทเป็นศักยภาพที่จะแสดงลักษณะทางกายและพฤติกรรมออกมาตามลักษณะของบรรพบุรุษ แต่การจะแสดงออกได้จริงมากน้อยเพียงใดนั้นต้องขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้วย

ความสำคัญของความแตกต่างระหว่างบุคคลต่อการเรียนการสอน

         การจัดการเรียนการสอนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามหลักสูตรต้องการ ทั้งพฤติกรรมด้านความรู้ ด้านเจตคติ และด้านทักษะ โดยเน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาเองเต็มศักยภาพ แต่เราจะสามารถจัดการเรียนการสอนได้บรรลุวัตถุประสงค์เพียงใดนั้นปัจจัยสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งควรคำนึง คือ ความแตกต่างระหว่างผู้เรียน เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านสติปัญญา และด้านบุคลิกภาพอื่นๆ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลทั้งสิ้น ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในที่นี้กล่าวถึงลักษณะความแตกต่างที่สำคัญของผู้เรียนซึ่งมีผลต่อการจัดการเรียนการสอน คือ

ความแตกต่างทางด้านร่างกาย
1. เพศ ผู้ชายและผู้หญิงในความแตกต่างกันในหลายๆด้าน ลักษณะความแตกต่างที่ส่งผลต่อการเรียนการสอน ได้แก่ ด้านความสามารถ เทอร์แมนและไทเลอร์ (Terman and Tyler, 1954) ศึกษาพบว่า ผู้หญิงมีความสามารถด้านภาษา การเขียน และศิลปะมากกว่าผู้ชาย ส่วนผู้ชายมีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มากกว่าผู้หญิง แม็คโคบี และแจ็คคลิน (Macaoby and Jacklin, 1974) พบว่าผู้ชายมีความสามารถมากกว่าผู้หญิง ในด้านคณิตศาสตร์ การจำรูปทรง การคิดวิเคราะห์และการคิดริเริ่ม
คาสเซิล (Castle, 1913) พบว่าผู้หญิงมาความสามารถในการใช้ถ้อยคำได้อย่างคล่องแคล่วมากกว่าผู้ชาย ด้านอารมณ์และบุคลิกภาพอื่นๆ จากการศึกษาพบว่า ผู้ชายมีอารมณ์มั่นคง มีความหนักแน่น มั่นใจตัวเอง มีนิสัยกล้าเสี่ยง ชอบความท้าทายและมีอารมณ์ก้าวร้าวมากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงมักมีอารมณ์อ่อนไหว มีความมั่นใจในตัวเองต่ำและมีแนวโน้มในการพึ่งพาและคล้อยตามผู้อื่นมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ผู้หญิงและผู้ชายยังมีความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ไม่เหมือนกันด้วย สำหรับ ด้านสติปัญญา จากการทดสอบเพื่อเปรียบเทียบระดับสติปัญญาของผู้หญิงและผู้ชาย ปรากฏว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับสติปัญญาของผู้หญิงและผู้ชาย
2. อายุ ความแตกต่างด้านอายุหรือวัยของคนเรา มีส่วนเกี่ยวข้อง และก่อให้เกิดความแตกต่างในเรื่องต่อไปนี้ คือ ความรับผิดชอบ ความสนใจ ความรอบรู้ ความสามารถในการแก้ไขปัญหา ความคิด ความมีเหตุผล และวุฒิภาวะด้านอื่นๆ รวมทั้งความสามารถทางสติปัญญา จากการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางสติปัญญา นักจิตวิทยาให้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า ความสามารถทางสมองของคนเราจะเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 20 ปี และต่อจากนั้นอัตราพัฒนาการทางสมองจะเริ่มลดระดับลงเมื่อย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
3. สุขภาพและลักษณะทางร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บ ความพิการของร่างกาย ความผิดปกติในลักษณะต่างๆ ขนาดของร่างกาย ตลอดจนลักษณะเด่น- ด้อยของรูปร่างหน้าตา มีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลทั้งในทางส่งเสริมและเป็นอุปสรรค์ ทั้งนี้รวมถึงความบกพร่องบางอย่างทางร่างกายด้วย เช่น ความบกพร่องทางการมองเห็น หรือการได้ยิน เป็นต้น

ความแตกต่างทางอารมณ์
อารมณ์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม และการทำกิจกรรมต่างๆของบุคคลเสมอ สำหรับในการเรียนรู้นั้น นักจิตวิทยาและนักการศึกษามีความเห็นสอดคล้องกันว่า การที่ผู้เรียนมีอารมณ์ในทางที่ดี เช่น อารมณ์ดีใจ ร่าเริง ยินดี สบายใจ จะก่อให้เกิดผลดีในการเรียนรู้ ส่วนอารมณ์ในทางที่ไม่ดี เช่น อารมณ์โกธร กลัว เศร้า อิจฉา ตื่นเต้นตกใจ มักเป็นตัวรบกวนความสามารถในการเรียนรู้ แต่บางครั้งอารมณ์ในทางที่ไม่ดีบางอย่างก็ทำให้บุคคลเรียนรู้ได้ดีขึ้น เช่น จากผลการวิจัยพบว่า เด็กที่มีระดับสติปัญญาค่อนข้างดี ถ้ามีความวิตกกังวลจะทำให้กิจกรรมการเรียนได้ดีขึ้น แต่เด็กที่มีสติปัญญาปานกลางหรือค่อนข้างต่ำจะทำกิจกรรมได้เลวลง ปราณี รามสูต (2528) กล่าวว่าการเกิดอารมณ์ต่างๆ ให้ทั้งผลดีและผลเสียในด้านการเรียนรู้ ถ้าผู้เรียนเกิดอารมณ์ในระดับที่พอดี จะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะตื่นตัว พร้อมที่จะทำกิจกรรมต่างๆในการเรียนรู้

ความแตกต่างทางด้านสังคม

บุคคลที่อยู่ในสภาพสังคมที่ต่างกันย่อมมีลักษณะทางบุคลิกภาพและพฤติกรรมแตกต่างกัน เช่น ทัศนคติ ความเชื่อ ความสนใจ แรงจูงใจ และลักษณะอื่นๆ รวมทั้งลักษณะทางสติปัญญาซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเรียนรู้ จากผลการวิจัยของ แฮฟวิงเฮริด์ และแจนกี้ (Hevinghurst and janke, 1944, 1945) พบว่า เก็ดอายุ 10 และ 16 ปี ที่มาจากชนชั้นสูง มีระดับสติปัญญาสูงกว่าชนชั้นต่ำ (การจัดกลุ่มชนชั้นทางสังคมพิจารณาจากฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา อาชีพของบิดามารดา และถิ่นที่อยู่อาศัย) เดครอลี่ และดีแกนด์ (Decroly and Degand, 1910) พบว่าเด็กในกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่า ทำคะแนนได้สูงกว่าเกณฑ์ปกติ จากแบบทดสอบสติปัญญาของบิเนต์ แม็ค เนมา (Mc Nema, 1942) ศึกษาระดับสติปัญญาของเด็กโดยจำแนกตามของอาชีพของบิดามารดา พบว่าระดับสติปัญญาแตกต่างกันอย่างเด่นชัด และไลฟ์เซย์ (Livesay, 1944) ได้ศึกษาพบว่าคะแนนทดสอบเฉลี่ยของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปรายในรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความสัมพันธ์กับรายได้ของบิดามารดา

ความแตกต่างทางด้านสติปัญญา
ความสามารถทางสติปัญญาเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของบุคคล นักจิตวิทยาและนักการศึกษาต้นพบว่า ระดับสติปัญญาขิงคนเรามีความแตกต่างกันตั้งแต่ระดับสูง (อัจฉริยะ) จนถึงระดับต่ำ (ปัญญาอ่อน) ในการเรียนการสอนครูส่วนมากจะคิดถึงผู้เรียนทั้งห้องเป็นภาพรวม และคาดหวังให้เรียนส่วนมากซึ่งมีสติปัญญาระดับปานกลางเกิดการเรียนรู้ แต่ในความเป็นจริงในห้องเรียนหนึ่งๆ มักจะมีผู้เรียนสติปัญญาระดับสูง และระดับต่ำกว่าปานกลางรวมอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งผู้เรียนทั้งสองประเภทนี้ต้องการความช่วยเหลือจากครูเป็นพิเศษ เพราะการสอนรวมกับผู้อื่นตามปกติเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งสองประเภท กล่าวคือ ผู้เรียนระดับสติปัญญาสูงจะเกิดความเบื่อหน่ายและอาจแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น ขาดความสนใจในบทเรียน ทำพฤติกรรมก่อกวนชั้นเรียนเนื่องจากทำงานเสร็จและไม่มีอะไรทำ ขาดแรงจูงใจในการเรียน เพราะงานที่ครูให้ทำงานเกินไป และไม่ท้าทาย ดังนั้นครูจึงควรจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมผู้เรียนประเภทนี้ให้มีโอกาสได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ และเพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์ในการเรียน
โปรแกรมที่นักการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาจัดให้เด็กที่มีสติปัญญาสูงมี 3 ประเภท คือ
1. การข้ามชั้น
2. การจัดโปรแกรมพิเศษเพื่อส่งเริมการเรียนรู้
3. การแบ่งเรียนเป็นกลุ่ม สอนตามความสามารถ
สำหรับประเทศไทย มีการเปิดโอกาสให้สอบเทียบความรู้ในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา นอกจากนี้โรงเรียนบางโรงเรียนยังจัดโปรแกรมพิเศษสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ โปรแกรมการเรียน 2 ปี และ 3 ปี
สำหรับผู้เรียนที่มีสติปัญญาต่ำกว่าปานกลางหรือเด็กเรียนช้า ซึ่งมักมีพฤติกรรมแตกต่างไปจากเด็กปกติ
คือ มักขาดความมั่นใจในตนเอง คิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และขาดความนับถือตนเอง มีความจำระยะสั้น มีความสนใจสั้น ไม่สามารถสำรวมความคิดและพฤติกรรมได้นาน และเมื่อเผชิญกับสภาพที่เป็นปัญหามักจะเกิดความท้อถ้อยหรือคับข้องใจ การสอนเด็กเรียนช้าที่ได้ผลดีก็คือ การสอนเป็นรายบุคคล แต่อาจมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม สุรางค์ โค้วตระกูล (2533) ได้เสนอหลักในการสอนเด็กเรียนช้าไว้ดังนี้
1.ครูจะต้องแสดงให้นักเรียนทราบว่า ครุเต็มใจที่จะช่วยนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้
2.หลีกเลี่ยงสภาวะที่ก่อให้นักเรียนที่เรียนช้าเกิดความคับข้องใจ โดยการจักบทเรียนให้เหมาะสม กับความสามารถเช่น เลือกงานที่ง่ายและน้อยกว่านักเรียนปกติ
3.ครุควรเลือกถามคำถามที่นักเรียนเรียนช้าตอบได้ และให้เวลาในการตอบ
4.จัดหน่วยเรียนให้สั้นและจบได้ในตัว
5.ครูควรทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้วทุกครั้งที่จะเริ่มบทเรียนใหม่
6.ให้ข้อมูลย้อนกลับทันที
7.ช่วยให้นักเรียนเรียนช้าติดตามผลความก้าวหน้าทางการเรียนของตนเอง เพื่อจะได้มีกำลัง

ความแตกต่างทางด้านบุคลิกภาพอื่นๆ

นอกจากบุคคลจะแตกต่างกันในด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความแตกต่างกันด้านบุคลิกภาพอื่นๆ เช่น ความถนัดตาธรรมชาติ ความสนใจ ทัศนคติ แรงจูงใจ ความคิดสร้างสรรค์ ความรับผิดชอบ วิธีคิดและแบบของการเรียนรู้ ฯลฯ ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีผลต่อการเรียนทั้งสิ้น โดนเฉพาะอย่างยิ่งแบบการเรียนรู้ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น คนบางคนเรียนรู้ได้ดีด้วยการใช้สายตาหรือการสังเกต (Visual) บางคนเรียนรู้ได้ดีด้วยการฟัง (Auditory) บางคนเรียนรู้ไดดีด้วยการพูด (Talking) และบางคนเรียนรู้ได้ดีโดยการใช้มือหรือการสัมผัส (Touching) นอกจากนี้ผู้เรียนบางคนเรียนรู้ได้ดีถ้ามีการกำหนดเวลาที่แน่นอน แต่บางคนจะทำได้ไม่ดี บางคนต้องการให้คอยดูหรือจ้ำจี้จ้ำไช แต่บางคนชอบอิสระ เป็นต้น ในห้องเรียนหนึ่งๆ ประกอบด้วยนักเรียนที่มีความแตกต่างกันอย่างหลากหลายปละความแตกต่างเหล่าเป็นตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน ถ้าครูตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างผู้เรียนอย่างจริงจัง ก็สามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองผู้เรียน และพัฒนาศักยภาพผู้เรียนอย่างเต็มที่




เอกสารอ้างอิง


http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2555/coms30555nn_ch2.pdf

http://www.baanjomyut.com/library_2/extension1/concepts_of_developmental_psychology/04_2.html

https://nuttapong.wikispaces.com

http://thongkred99.blogspot.com/2013/07/blog-post_7954.html

สื่อและนวัตกรรมสำหรับการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์

สื่อและนวัตกรรมสำหรับการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์
พุทธรัตน์  คำเพ็ง
สาขาคณิศาสตรมหาบัณฑิต
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ความหมายของสื่อ
         Heinich และคณะ (1996) Heinich เป็นศาสตราจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยีระบบการเรียนการสอน ของมหาวิทยาลัยอินเดียน่า (Indiana University) ให้คำจำกัดความคำว่า "media" ไว้ดังนี้ "Media is a channel of communication." ซึ่งสรุปความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้ "สื่อ คือช่องทางในการติดต่อสื่อสาร" Heinich และคณะยังได้ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า "media มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน มีความหมายว่า ระหว่าง (between) หมายถึง อะไรก็ตามซึ่งทำการบรรทุกหรือนำพาข้อมูลหรือสารสนเทศ สื่อเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างแหล่งกำเนิดสารกับผู้รับสาร" 

          A. J. Romiszowski (1992) ศาสตราจารย์ทางด้านการออกแบบ การพัฒนา และการประเมินผลสื่อการเรียนการสอน ของมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ (Syracuse University) ให้คำจำกัดความคำว่า "media" ไว้ดังนี้ "the carriers of messages, from some transmitting source (which may be a human being or an inanimate object) to the receiver of the message (which in our case is the learner)" ซึ่งสรุปความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้ "ตัวนำสารจากแหล่งกำเนิดของการสื่อสาร (ซึ่งอาจจะเป็นมนุษย์ หรือวัตถุที่ไม่มีชีวิต ) ไปยังผู้รับสาร (ซึ่งในกรณีของการเรียนการสอนก็คือ ผู้เรียน)" 
          สรุปได้ว่า สื่อ หมายถึง สิ่งใดๆ ก็ตามที่เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารกับผู้รับสาร เป็นสิ่งที่นำพาสารจากแหล่งกำเนินไปยังผู้รับสาร เพื่อให้เกิดผลใดๆ ตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร


ความหมายของสื่อการสอนและสื่อการเรียนรู้ 
           ความหมายของสื่อการสอน ได้มีนักวิชาการ และนักเทคโนโลยีการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ให้ความหมายของ “ สื่อการสอน” ไว้หลายท่าน พอสรุปได้ ดังนี้
           เชอร์ส (Shores. 1960 : 1) กล่าวว่า สื่อการสอนเป็นเครื่องมือช่วยสื่อความหมายใด ๆ ก็ตามที่จัดโดยครูและนักเรียน เพื่อเสริมการเรียนรู้ เครื่องมือการสอนทุกชนิดเป็นสื่อการสอน เช่น หนังสือในห้องสมุด โสตทัศนวัสดุต่าง ๆ ทรัพยากรจากชุมชน เป็นต้น
            ฮาส และแพคเกอร์ (Hass and PacKer. 1964 : 11) กล่าวว่า สื่อการสอน คือ เครื่องมือที่ช่วยในการถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นจริงได้แก่ ทักษะ ทัศนะคติ ความรู้ ความเข้าใจ และความซาบซึ้งไปยังผู้เรียน หรือเป็นเครื่องมือประกอบการสอน ที่เราสามารถได้ยินและมองเห็นได้เท่า ๆ กัน 
            บราวน์ และคนอื่น ๆ (Brown and other. 1964 : 584) กล่าวว่า สื่อการสอนหมายถึง จำพวกอุปกรณ์ทั้งหลายที่สามารถเสนอความรู้ให้แก่ผู้เรียน จนเกิดผลการเรียนที่ดีทั้งนี้รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เฉพาะที่เป็นวัสดุหรือเครื่องมือเท่านั้น เช่น การศึกษานอกสถานที่ การสาธิต การทดลอง ตลอดจนการสัมภาษณ์ เป็นต้น
         เกอร์ลัช และอีลี (ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2526 :141 : อ้างอิงมาจาก Gerlach and Ely.) ได้ให้คำจำกัดความของสื่อการสอนไว้ว่า สื่อการสอน คือ บุคคล วัสดุหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้นักเรียนได้รับความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ครู หนังสือ และสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนจัดเป็นสื่อการสอนทั้งสิ้น 
          ไฮนิคส์ โมเลนดาและรัสเซล (Heinich, Molenda and Russel. 1985 : 5) ให้ทัศนะเกี่ยวกับสื่อการสอนไว้ว่า สื่อการสอน หมายถึง สื่อชนิดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นสไลด์โทรทัศน์วิทยุเทปบันทึกเสียงภาพถ่ายวัสดุฉาย และวัตถุสิ่งตีพิมพ์ซึ่งเป็นพาหนะในการนำข้อมูลจากแหล่งข้อมูลไปยังผู้รับ เมื่อนำมาใช้กับการเรียนการสอน หรือส่งเนื้อหาความรู้ไปยังผู้เรียนในกระบวนการเรียนการสอน เรียกว่า สื่อการสอน 
         เปรื่อง กุมุท (2519 : 1) กล่าวว่า สื่อการสอน หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือ หรือช่องทางสำหรับทำให้การสอนของครูถึงผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่วางไว้อย่างดี 
        วาสนา ชาวหา(2522:59) กล่าวว่าสื่อการสอนหมายถึงสิ่งใดๆก็ตามที่เป็นตัวกลางนำความรู้ไปสู่ผู้เรียน และทำให้การเรียนการสอนเป็นไป ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้  
         ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2526 : 4) กล่าวว่า สื่อการสอน หมายถึง สิ่งที่ช่วยให้การเรียนรู้ ซึ่งครูและนักเรียนเป็นผู้ใช้เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
         ชม ภูมิภาค (2526 : 5) กล่าวว่า สื่อการสอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีการสอน เป็นพาหนะที่จะนำสารหรือความรู้ไปยังผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ 
         ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2529 : 112) ให้ความหมายของสื่อการสอนว่า คือวัสดุ (สิ้นเปลือง) อุปกรณ์ (เครื่องมือที่ใช้ไม่ผุพังง่าย) วิธีการ (กิจกรรม เกม การทดลอง ฯลฯ) ที่ใช้สื่อกลางให้ผู้สอนสามารถส่ง หรือถ่ายทอดความรู้ เจตคติ (อารมณ์ ความรู้สึก ความสนใจ ทัศนคติ และค่านิยม) และทักษะไปยังผู้เรียน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พิมพ์พรรณ เทพสุมาธานนท์ (2531 : 29) กล่าวว่าสื่อการสอนหมายถึงสิ่งต่างๆที่ใช้เป็นเครื่องมือหรือช่องทางสำหรับให้การสอนของครูกับผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายที่ผู้สอนวางไว้เป็นอย่างดี
สรุปได้ว่า สื่อการสอน หมายถึงวัสดุ เครื่องมือและเทคนิควิธีการที่ผู้สอนนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 การจำแนกประเภทของสื่อการเรียนรู้

      สื่อการเรียนรู้สามารถจำแนกออกตามลักษณะได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. สื่อสิ่งพิมพ์ หมายถึง หนังสือและเอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่แสดงหรือเรียบเรียงสาระความรู้ต่าง ๆ โดยใช้ตัวหนังสือที่เป็นตัวเขียน หรือตัวพิมพ์เป็นสื่อในการแสดงความหมาย สื่อสิ่งพิมพ์มีหลายชนิด ได้แก่ เอกสาร หนังสือเรียน หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร บันทึก รายงาน ฯลฯ
2. สื่อเทคโนโลยี หมายถึง สื่อการเรียนรู้ที่ผลิตขึ้นใช้ควบคู่กับเครื่องมือโสตทัศนวัสดุ หรือเครื่องมือที่เป็น เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น แถบบันทึกภาพพร้อมเสียง (วิดีทัศน์) แถบบันทึกเสียง ภาพนิ่ง สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน นอกจากนี้สื่อเทคโนโลยี ยังหมายรวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการเรียนรู้ เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นต้น
3. สื่ออื่น ๆ นอกเหนือจากสื่อ 2 ประเภทที่กล่าวไปแล้ว ยังมีสื่ออื่น ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อเทคโนโลยี สื่อที่กล่าวนี้ ได้แก่ 
     3.1 บุคคล หมายถึง บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ซึ่งสามารถถ่ายทอด สาระความรู้ แนวคิดและ ประสบการณ์ไปสู่บุคคลอื่น เช่น บุคลากรในท้องถิ่น แพทย์ ตำรวจ นักธุรกิจ เป็นต้น 
     3.2 ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งมีอยู่ตามธรรมชาติและสภาพแวดล้อมตัวผู้เรียน เช่น พืชผักผลไม้ ปรากฏการณ์ ห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
     3.3 กิจกรรม / กระบวนการ หมายถึง กิจกรรมหรือกระบวนการที่ผู้สอนและผู้เรียนกำหนดขึ้นเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ ใช้ในการฝึกทักษะซึ่งต้องใช้กระบวนการคิด การปฏิบัติ การเผชิญสถานการณ์และ การประยุกต์ความรู้ของผู้เรียน เช่น บทบาทสมมติ การสาธิต การจัดนิทรรศการ การทำโครงงาน เกม เพลง เป็นต้น 
     3.4 วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ หมายถึง วัสดุที่ประดิษฐ์ขึ้นใช้เพื่อประกอบการเรียนรู้ เช่น หุ่นจำลอง แผนภูมิ แผนที่ ตาราง สถิติ รวมถึงสื่อประเภทเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ เครื่องมือช่าง เป็นต้น



ขั้นตอนในการสร้างสื่อมัลติมีเดีย
    ในการสร้างสื่อมัลติมีเดีย จะเริ่มต้นด้วย
-การกำหนดหัวเรื่อง
-เป้าหมาย
-วัตถุประสงค์
-กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้
-การวิเคราะห์ (Analysis)
-การออกแบบ (Design)
-การพัฒนา (Development)
-การสร้าง (Implementation)
-การประเมินผล (Evaluation)
-นำออกเผยแพร่ (Publication)
ซึ่งการสร้างสื่อมัลติมีเดีย ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า การจัดทำสื่อมัลติมีเดีย นี้เป็นเรื่องที่ง่ายมากๆ ซึ่งหมายความว่าใครๆ ที่มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์ก็สามารถจะสร้างสื่อมัลติมีเดียได้ ในที่นี้จะกำหนดขั้นตอนการสร้างสื่อมัลติมีเดียโดยละเอียด ทั้งหมด 7 ขั้นตอน เพื่อสะดวกกับผู้เริ่มต้นที่สนใจในการสร้างสื่อมัลติมีเดีย (สุกรี รอดโพธ์ทอง 2538 : 25-33) ดังนี้
1. ขั้นการเตรียม (Preparation)
                    - กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ (Determine Goals and Objectives) ต้องทราบว่าศึกษาในเรื่องใดและลักษณะใด เราจะต้องทราบพื้นฐานของผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเสียก่อน เพราะความรู้พื้นฐานของผู้เรียนมีอิทธิพลต่อเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการเรียน
                    - รวบรวมข้อมูล (Collect Resources) หมายถึง การเตรียมพร้อมทางด้านของเอกสารสนเทศ (Information) ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง
                    - เนื้อหา (Meterials) ได้แก่ ตำรา หนังสือ เอกสารทางวิชาการ หนังสืออ้างอิง สไลด์ภาพต่างๆ แบบสร้างสถานการณ์จำลอง                  
                    - การพัฒนาและออกแบบบทเรียน (Instructional Development) คือ หนังสือการออกแบบบทเรียน กระดาษวาดสตอรี่บอร์ดสื่อสำหรับการทำกราฟิก โปรแกรมประมวลผลคำ เป็นต้น
                   - สื่อในการนำเสนอบทเรียน (Instructional Development System) ได้แก่ การนำเอาคอมพิวเตอร์สื่อต่างๆ มาใช้งาน
                   - เรียนรู้เนื้อหา (Learn Content) เช่น การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การอ่านหนังสือหรือ
เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาบทเรียน ถ้าไม่มีการเรียนรู้เนื้อหาเสียก่อนก็ไม่สามารถออกแบบบทเรียนที่มีประสิทธิภาพได้
                    - สร้างความคิด (Generate Ideas) คือ การระดมสมองนั่นเอง การระดมสมองหมายถึง
การกระตุ้นให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นต่างๆ เป็นจำนวนมาก
2. ขั้นตอนการออกแบบบทเรียน (Design Instruction) ขั้นตอนการออกแบบบทเรียน
เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นหนึ่งในการกำหนดว่าบทเรียนจะออกมามีลักษณะใด
                    - ทอนความคิด (Elimination of Ideas)
                    - วิเคราะห์งานและแนวความคิด (Task and Concept Analysis)
                    - ออกแบบบทเรียนขั้นแรก (Preliminary Lesson Description)
                    - ประเมินและแก้ไขการออกแบบ (Evaluation and Revision of the Design)
 3. ขั้นตอนการเขียนผังงาน (Flowchart Lesson) เป็นการนำเสนอลำดับขั้นโครงสร้างของ
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ผังงานทำหน้าที่เสนอข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรม เช่น อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนตอบคำถามผิด หรือเมื่อไหร่จะมีการจบบทเรียน และการเขียนผังงานขึ้นอยู่กับประเภทของบทเรียนด้วย
4. ขั้นตอนการสร้างสตอรี่บอร์ด (Create Storyboard) เป็นขั้นตอนการเตรียมการนำเสนอข้อความ ภาพ รวมทั้งสื่อในรูปแบบมัลติมีเดียต่างๆ ลงบนกระดาษเพื่อให้การนำเสนอข้อความและรูปแบบต่างๆ เหล่านี้เป็นไปอย่างเหมาะสมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อไป
5. ขั้นตอนการสร้างและการเขียนโปรแกรม (Program Lesson) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงสตอรี่บอร์ดให้กลายเป็น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ส่วนนี้จะต้องคำนึงถึงฮาร์ดแวร์ ลักษณะและประเภทของบทเรียนที่ต้องการสร้าง โปรแกรมเมอร์และงบประมาณ
6. ขั้นตอนการประกอบเอกสารประกอบบทเรียน (Produce Supporting Materials) เอกสารประกอบบทเรียนอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ คู่มือการใช้ของผู้เรียน คู่มือการใช้ของผู้สอน คู่มือสำหรับแก้ปัญหาเทคนิคต่างๆ และเอกสารประกอบเพิ่มเติมทั่วๆ ไป ผู้เรียนและผู้สอนย่อมมีความต้องการแตกต่างกัน คู่มือจึงไม่เหมือนกัน คู่มือการแก้ปัญหาก็จำเป็นหากการติดตั้งมีความสลับซับซ้อนมาก
7. ขั้นตอนการประเมินผลและแก้ไขบทเรียน (Evaluate and Revise) บทเรียนและเอกสารประกอบทั้งหมดควรที่จะได้รับการประเมิน โดยเฉพาะการประเมินการทำงานของบทเรียน ในส่วนของการนำเสนอนั้นควรจะทำการประเมินก็คือ ผู้ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบมาก่อนในการประเมินการทำงานของบทเรียนนั้น ผู้ออกแบบควรที่จะสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนหลังจากที่ได้ทำการเรียนจากคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้นๆ แล้ว โดยผู้ที่เรียนจะต้องมาจากผู้เรียนในกลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนนี้อาจจะครอบคลุมถึงการทดสอบนำร่องการประเมินผลจากผู้เชี่ยวชาญได้ ในการประเมินการทำงานของบทเรียนนั้นผู้ออกแบบควรที่จะสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนหลังจากที่ได้ทำการเรียน จากคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้นๆ แล้ว โดยผู้ที่เรียนจะต้องมาจากผู้เรียนในกลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนนี้อาจจะครอบคลุมถึงการทดสอบนำร่องการประเมินผลจากผู้เชี่ยวชาญได้



 ความหมายของนวัตกรรม
“นวัตกรรม” (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ ”การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม” แนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของนักเศรษฐอุตสาหกรรม เช่น ผลงานของ Joseph Schumpeter ใน The Theory of Economic Development,1934 โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก นวัตกรรมยังหมายถึงความสามารถในการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงอีกด้วย (พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ , Xaap.com)
                คำว่า “นวัตกรรม” เป็นคำที่ค่อนข้างจะใหม่ในวงการศึกษาของไทย คำนี้ เป็นศัพท์บัญญัติของคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มาจากภาษาอังกฤษว่า Innovation มาจากคำกริยาว่า innovate แปลว่า ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ ในภาษาไทยเดิมใช้คำว่า “นวกรรม” ต่อมาพบว่าคำนี้มีความหมายคลาดเคลื่อน จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า นวัตกรรม (อ่านว่า นะ วัด ตะ กำ) หมายถึงการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากวิธีการที่ทำอยู่เดิม เพื่อให้ใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าวงการหรือกิจการใด ๆ ก็ตาม เมื่อมีการนำเอาความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรม ของวงการนั้น ๆ เช่นในวงการศึกษานำเอามาใช้ ก็เรียกว่า “นวัตกรรมการศึกษา” (Educational Innovation)
                ทอมัส  ฮิวช์ (Thomasl Hughes, 1971 อ้างถึงใน  ไชยยศ  เรืองสุวรรณ. 2521 : 13) ได้ให้ความหมายของ คำว่า นวัตกรรมว่า “เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆมาปฏิบัติ หลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention)  พัฒนาการ (Development)  ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project)  แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา และเรียกว่า  นวกรรม (Innovation)”
                ไมล์  แมทธิว (Miles Matthew B.  อ้างถึงใน ไชยยศ  เรืองสุวรรณ. 2521 : 14)  ได้กล่าวถึง นวัตกรรมไว้ในเรื่อง  Innovation in Education ว่า“นวกรรม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างถ้วนถี่ การเปลี่ยนแปลงให้ใหม่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เป้าหมายของระบบบรรลุผล”
                ไชยยศ  เรืองสุวรรณ (2521 : 14)  ได้กล่าวไว้ว่า นวัตกรรม หมายถึงวิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมา หรือการปรุงแต่งของเก่าให้ใหม่เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายเล่านี้ได้รับการทดลอง พัฒนามาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีในทางปฏิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
                วสันต์  อติศัพท์ (2523 : 15) กล่าวไว้ว่า นวัตกรรม เป็นคำสมาสระหว่าง “นว” และ “กรรม”  ซึ่งมีความหมายว่า ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เช่น นวัตกรรมทางการแพทย์ หมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ตลอดจนแก้ปัญหาทางการแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นวัตกรรมการศึกษาก็หมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา
                กิดานันท์  มลิทอง (2540 : 245)  ได้กล่าวไว้ว่า นวัตกรรมเป็นแนวความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย
                ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า นวัตกรรม หมายถึง ความคิดและการกระทำใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือการพัฒนาหรือต่อยอดจากของเดิมให้ดียิ่งขึ้น และเมื่อนำมาใช้งานก็ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้ในการศึกษาเราก็เรียกว่านวัตกรรมการศึกษา




นวัตกรรมทางการศึกษา
“นวัตกรรมการศึกษา” (Educational Innovation )" หมายถึง นวัตกรรมที่จะช่วยให้การศึกษา และการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมการศึกษา และประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมการศึกษามากมายหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งนวัตกรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว และประเภทที่กำลังเผยแพร่ เช่น การเรียนการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Aids Instruction) การใช้แผ่นวิดีทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ ( Hypermedia ) และอินเทอร์เน็ต [Internet] เหล่านี้ เป็นต้น (วารสารออนไลน์ บรรณปัญญา.htm)
“นวัตกรรมทางการศึกษา” (Educational Innovation) หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตามเข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกิดแรงจูงใจในการเรียน และช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น การสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้วีดิทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ (Hypermedia) และอินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นต้น
 “นวัตกรรมทางการศึกษา” หมายถึง สิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่ ที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา อันได้แก่ แนวคิด เทคนิค วิธีการกระบวน การ แนวปฏิบัติ หรือ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนของครู และพัฒนาการเรียนรู้ให้มีประสิทธิผลตามเป้าหมายของหลักสูตร ซึ่งอาจพิจารณาได้ ดังนี้
1. เป็นสิ่งที่ใช้แล้วจากที่อื่น แต่นำมาใช้ใหม่ที่นี่
2. เป็นสิ่งที่เคยใช้มาแล้วจากที่อื่น แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่
3. เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่เพิ่งนำมาทดลองใช้
4. เป็นสิ่งที่ผลิต/สร้างขึ้นใหม่และทดลองใช้ที่นี่เป็นครั้งแรก




ประเภทของนวัตกรรมทางการศึกษา
ประเภทของนวัตกรรมทางการศึกษาที่นิยมนำมาใช้ในการแก้ปัญหา/พัฒนาการเรียนการสอนอาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. สื่อการเรียนการสอน อาทิ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน บทเรียนวีซีดี บทเรียนซีดี บทเรียนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ บทเรียนการ์ตูน แบบฝึกทักษะ ฯลฯ
2. รูปแบบ/วิธีการเรียนการสอนแบบต่างๆ อาทิ วิธีการสอนแบบร่วมมือร่วมใจวิธีการสอนแบบซิปปา (CIPPA Model) วิธีการสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง วิธีการสอนฝึกกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
3. หลักสูตรแบบต่างๆ อาทิ หลักสูตรสาระเพิ่มเติม หลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรฝึกอบรม หลักสูตรวิชาชีพต่างๆ ฯลฯ
4. กระบวนการบริหารแบบต่างๆ อาทิ การบริหารเชิงระบบ การบริหารแบบธรรมาภิบาล การบริหารการจัดการความรู้ การบริหารแบบกัลยาณมิตร การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ฯลฯ
สรุปได้ว่า นวัตกรรมทางการเรียนการสอน หมายถึง กระบวนการ เทคนิค วิธีการ แนวคิด หลักปฏิบัติ เครื่องมือหรือสิ่งใหม่ๆ ที่ได้ผ่านการทดลองและพัฒนาอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ แล้วนำมาใช้ในการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการเรียนการสอน


สื่อการสอนและนวัตกรรมที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์
          ในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั้นผู้เรียนจะบรรลุจุดประสงค์การเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น       ผู้สอนจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ และจะต้องมีเทคนิควิธีการต่างๆ เพื่อนำสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ไปสู่ผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือมีการใช้สื่อการเรียนการสอน/นวัตกรรมที่น่าสนใจ โดยการที่ครูใช้สื่อการสอน/นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนนั้นจะทำให้ครูมีความมั่นใจในการสอนมากขึ้น เนื่องจากสื่อการสอน/นวัตกรรมมีความหลากหลายและน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ใช้พัฒนาผู้เรียนได้ทำให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ เรียนรู้อย่างชัดเจน และทำให้ผู้เรียนสนใจเรียนมากขึ้นด้วย ซึ่งสื่อการสอน/นวัตกรรมที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์มีมากมายหลายประเภท เช่น โปรแกรมการคำนวณ เครื่องคำนวณ โปรแกรม GSPบทเรียนสำเร็จรูป เป็นต้น








เอกสารอ้างอิง
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. คู่มือการวัดผลประเมินผลคณิตศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์   คุรุสภา      ลาดพร้าว, 2546.
http://www.edu.nu.ac.th/wbi/Multimediaforpresentation/lesson1_3.html